จากคลิปสารคดี Japan’s independent kids จึงเกิดคำถามที่น่าสนใจที่ว่า? คนญี่ปุ่นเขาเลี้ยงลูกอย่างไร จึงทำให้เด็กๆ รู้จักการรับผิดชอบตัวเองได้ตั้งแต่อายุน้อยๆ แล้วทำไมพ่อแม่ชาวญี่ปุ่นถึงเชื่อใจเด็กๆ และยอมปล่อยให้ลูกน้อยเผชิญการเดินทางคนเดียวได้อย่างมั่นใจ
ซึ่งพฤติกรรมการช่วยเหลือตัวเองได้ตั้งแต่ยังเด็ก และการปล่อยให้ลูกเดินทางขึ้นรถไฟไปโรงเรียนเองทุกวัน อาจเป็นเรื่องที่น่าแปลกและน่าตกใจสำหรับคุณพ่อคุณแม่หลายประเทศ แต่สำหรับที่ญี่ปุ่นนั้น เราจะพบเห็นเด็กน้อยที่เดินทางไปไหนมาไหนคนเดียวได้จนชินตา
ซึ่งถ้าไม่นับเรื่องความปลอดภัยของบ้านเมืองที่ประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทย ที่ญี่ปุ่นนั้นสามารถตัดความกังวลใจเรื่องการปล่อยให้เด็กๆ ได้เดินไปไหนมาไหนได้ตามลำพังแล้ว ในเรื่องการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ชาวญี่ปุ่น และการได้รับการอบรมสั่งสอนในโรงเรียนนั้นถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของการบ่มเพาะวินัยในตัวเองให้กับเด็กญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก
โดย ดเวย์น ดิกซ์สัน นักมนุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยดุ๊ก ได้ศึกษาถึงเหตุผลที่ว่าทำไมเด็กญี่ปุ่นถึงสามารถรับผิดชอบตัวเองได้ตั้งแต่ยังเล็กซึ่งแตกต่างจากเด็กๆ ชาวตะวันตกไว้ว่า
1.ยอมปล่อยให้เด็กมีอิสรภาพและให้ลองรับผิดชอบตัวเองตั้งแต่ยังเล็ก
เช่น เด็กญี่ปุ่นส่วนมากเมื่ออายุได้ตั้งแต่ 2 ขวบ คุณพ่อคุณแม่ชาวญี่ปุ่นก็ลองปล่อยให้ลูกน้อยได้ช่วยเหลือตัวเองเท่าที่ลูกจะทำได้ แต่ก็มีการดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น ให้ลองใส่เสื้อผ้า ตักข้าวกินเอง และให้ลองแปรงฟันด้วยตัวเอง และเมื่อลูกๆ ทำได้ก็จะพูดชมเชย เช่น “โอ้โห ลูกทำเองคนเดียวเลยเหรอ เก่งมาก” แต่ก็มีสิ่งที่ควรระวังก็คือ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยให้ลูกๆ ทำอะไรเกินความสามารถที่ร่างกายของพวกเขายังไม่สามารถทำได้และต้องไม่กดดันลูกน้อยเกินไป
2.โรงเรียนในญี่ปุ่นสอนให้เด็กๆ รู้จักรับผิดชอบแบบส่วนรวม โดยการให้ลงมือทำ
เช่น แทนที่จะให้เด็กๆ วางถาดอาหารกลางวันเมื่อกินเสร็จ โรงเรียนที่ญี่ปุ่นกลับให้เด็กๆ ล้างถาดอาหารของตัวเองให้เรียบร้อย หรือเมื่อถึงเวลาเล่นของเล่นเสร็จก็ต้องเก็บให้เข้าที่เดิม ฯลฯ ซึ่งผลลัพธ์ของการให้เด็กๆ รู้จักรับผิดชอบของส่วนรวมตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อยนี้ ก็มีผลอย่างมากต่อการสร้างนิสัยรักระเบียบและเกรงอกเกรงใจผู้อื่นเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากสังคมญี่ปุ่นที่ไม่ว่าจะเป็นการต่อคิวอะไร คนญี่ปุ่นก็ยืนต่อแถวกันเป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่เสมอ หรือการไม่ทิ้งขยะเรี่ยราดรายทางตามท้องถนนของคนญี่ปุ่น เป็นต้น
3.การเลี้ยงลูกที่ใกล้ชิดแต่ไม่ตามใจ
การเลี้ยงลูกแบบนี้ทำให้เด็กๆ มีการกำกับควบคุมตัวเอง ที่เร็วกว่าเด็กชาวตะวันตกที่ถูกเลี้ยงดูมาในลักษณะให้กล้าแสดงออกและกล้าบอกความรู้สึกของตัวเอง ซึ่งทำให้เด็กชาวตะวันตกนั้นมีการรับรู้ตัวเอง เร็วกว่าเด็กชาวญี่ปุ่น และการเลี้ยงดูที่แตกต่างกันทั้ง 2 แบบนี้เอง ทำให้เด็กญี่ปุ่นส่วนมากเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีระเบียบวินัยและมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเพราะไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ในขณะที่เด็กๆ ในประเทศฝั่งตะวันตกจะเป็นตัวของตัวเอง กล้าคิดและกล้าแสดงออก
ทั้งจะเห็นได้ว่าการฝึกให้เด็กมีความเป็นอิสระ และมั่นใจนี้ พ่อแม่ไม่เพียงแต่ไว้วางใจในตัวเด็กอย่างเต็มที่เท่านั้น แต่พวกเขายังมั่นใจในชุมชนทั้งหมดอีกด้วย “มีเด็กจำนวนมากที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้อาศัยอยู่ทั่วโลก” ดเวย์น ดิกซ์สัน กล่าวสรุป และยังบอกอีกว่าแต่สิ่งที่ชาวตะวันตกรู้สึกประทับใจในญี่ปุ่นนั้น คือความรู้สึกของความไว้วางใจและความร่วมมือที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยไม่จำเป็นต้องพูดหรือร้องขอใดๆ เลย นั้นคือสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นมีซึ่งไม่เหมือนประเทศฝั่งตะวันตก
อย่างไรก็ตาม หากจะพูดถึงการเลี้ยงเด็ก ก็คงไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ว่าวิธีเลี้ยงแบบใดดีกว่ากัน แต่การได้เรียนรู้ถึงวิธีการสอนและวิธีการเลี้ยงดูเด็กในหลายๆ วิธี ของคนต่างสังคมและต่างวัฒนธรรม ก็น่าจะทำให้คุณพ่อคุณแม่ชาวไทยหลายๆ คนได้ลองนำไปเปรียบเทียบถึงข้อดีและข้อเสียของการสอนลูกๆ ได้ แบบไหนน่าเอาอย่างและน่าจะนำมาปรับใช้กับเด็กๆ ในบ้านได้